รู้จักกฎหมายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ก่อนติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

กฎหมาย เครื่อง กำเนิด ไฟฟ้า สำรอง

ในยุคที่พลังงานเป็นสิ่งจำเป็น และการมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่บ้าน หรือที่ทำงานดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ดี แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้น ไม่ใช่ว่าอยากติดตั้งก็ทำได้เลย! เพราะการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่เพียงแต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และความเหมาะสมเท่านั้น แต่ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองด้วย

บทความนี้จะพาไปรู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องปั่นไฟ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พร้อมวิธีการขออนุญาตก่อนติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อให้สามารถมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้งานได้อย่างถูกต้อง และไม่ผิดกฎหมาย

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า คืออะไร

เครื่องอกำเนิดไฟฟ้า หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เครื่องปั่นไฟ” เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่แปลงพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งหลักการทำงานคือการใช้หลักการเหนี่ยวนำแม่เหล็กเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีไว้เพื่อผลิตไฟฟ้าในกรณีที่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ หรือในสถานการณ์ที่ไฟฟ้าจากโครงข่ายหลักไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ในพื้นที่ห่างไกล หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรอง ที่ใช้ในการผลิต หรือเพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดการขัดข้องของไฟฟ้าจากแหล่งหลัก

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีกี่ขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีกี่ขนาด

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในโรงงาน โรงพยาบาล หรือแม้แต่ในบ้านเรือน เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีอยู่ 3 ขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ จึงควรเลือกให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด ดังนี้

ขนาดเล็ก 

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1 kVA ถึง 20 kVA ขนาดเล็ก กะทัดรัด สามารถพกพาได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในบ้าน ซึ่งมีทั้งรุ่นที่ใช้ระบบไฟฟ้าเฟสเดียว และสามเฟส พร้อมทางเลือกของเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน หรือดีเซล ซึ่งโดยปกติแล้วมักใช้ในงานเกษตร หรือเมื่อต้องการพลังงานไฟฟ้าในการตั้งแคมป์ หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ขนาดกลาง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 50 kVA ถึง 2500 kVA มักเป็นแบบสามเฟส พร้อมแรงดันไฟฟ้าที่เริ่มต้นที่ 220/380 โวลต์ เหมาะสำหรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาล โรงแรม หรือธนาคาร ที่มีความต้องการไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ไฟฟ้าจากแหล่งหลักมีปัญหา ก็สามารถสลับมาใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อการผลิตไฟฟ้าทดแทนได้ทันที

ขนาดใหญ่

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 4000 kVA หรือมากกว่านั้น มักใช้ในโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าต้นกำลัง โรงงานที่ใช้พลังงานความร้อน หรือกังหันแก๊ส ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก และส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำคัญอย่างไร

การติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการดำเนินงานของอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบแสงสว่าง ระบบการทำความร้อน รวมไปถึงระบบทำความเย็น เป็นต้น

ในกรณีที่เกิดปัญหาปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งาน หรือเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ การมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องจักร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า และยังช่วยให้การดำเนินชีวิต และการทำงาน สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีสะดุด นอกจากนี้ เครื่องกำเนิดไฟฟ้ายังมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ที่ไฟฟ้าจากโครงข่ายหลักเข้าไม่ถึง เช่น พื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น

ก่อนติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

ก่อนติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

ในสภาวะปัจจุบันที่ไทยอาศัยพลังงานจากประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า มาเลเซีย สำหรับการผลิตไฟฟ้า ซึ่งบางครั้งการซ่อมบำรุงอาจทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าลดลงชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ โรงงาน และอาคารส่วนใหญ่จึงได้มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อรับมือกับปัญหาไฟฟ้าดับ 

โดยการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องมีการเตรียมเอกสารและทราบขั้นตอนของการขออนุญาต ตามพระราชกฤษฎีกาพลังงานควบคุม พ.ศ. 2536 และกฎหมายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง พ.ศ. 2535 ดังนี้

เอกสารที่ใช้ในการขอใบอนุญาต

  • สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล
  • บัตรประชาชนตัวจริง
  • แบบพค.1 ฉบับจริง
  • หนังสือมอบอำนาจฉบับจริง พร้อมอากรแสตมป์ 10 บาท
  • แผนที่แสดงเส้นทางไปแหล่งผลิตพลังงานควบคุม ฉบับจริง
  • แผนผังแสดงวิธีการเดินสายไฟฟ้า ฉบับจริง

ขั้นตอนการขอใบอนุญาต

  • ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นคำขอตามแบบ พค. 1 พร้อมเอกสารประกอบครบถ้วน
  • การยื่นขอใบอนุญาตตามแบบ พค. 1 พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา และต้องติดตั้งระบบผลิตพลังงานควบคุมให้เสร็จสิ้นไม่น้อยกว่า 90% และพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ โดยทุกอย่างต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นกำลังที่ผลิตตามมาตรฐาน ระบบป้องกันที่เหมาะสม และการติดตั้งถังน้ำมันตามมาตรฐาน วสท.
  • การอนุญาตผลิต หรือขยายการผลิตพลังงานควบคุมมีระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาต
  • การยื่นขอต่ออายุ พค. 1 ต้องยื่นขอใบอนุญาตเดิมหมด อายุอย่างน้อย 120 วัน หลังจากยื่นขอแล้ว พพ. 
  • มีการแจ้งผล พพ. ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ขออนุญาต เพื่อให้ผู้ขอยื่นได้มารับใบขอนุญาต ซึ่งในปัจจุบัน พพ. ได้ออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมให้กับโรงงาน และอาคารหลายแห่ง เพื่อช่วยให้สามารถดำเนินการได้อย่างไม่สะดุดในกรณีฉุกเฉิน และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ผู้ผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไปถือว่าเป็นพลังงานควบคุม ต้องไปขออนุญาตด้วยตนเองที่หน่วยงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน  

  • ที่อยู่: อาคาร 6 ชั้น เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
  • โทรศัพท์: 0-2226-1827 
  • เวลาเปิดให้บริการ: วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08:30-16:30 น. (มีเวลาพักเที่ยง)

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

กฎกระทรวงได้กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ดังนี้

  • ข้อที่ 14 ในการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า นายจ้างจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานที่กำหนดโดยสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ ในกรณีที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
  • ข้อที่ 15 นายจ้างควรให้มีการใช้กุญแจเพื่อป้องกันการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจร หรือจัดให้มีระบบป้องกันไม่ให้เกิดการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรตลอดเวลาที่ลูกจ้างปฏิบัติงาน หากติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า ให้ติดป้ายแสดงเครื่องหมายห้ามสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรไว้ด้วย
  • ข้อที่ 16 นายจ้างไม่ควรให้ลูกจ้างทำความสะอาดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่กำลังใช้งานอยู่ ยกเว้นในกรณีที่ได้มีการจัดเตรียมมาตรการความปลอดภัยอย่างเหมาะสม และครบถ้วนแล้วเท่านั้น
  • ข้อที่ 17 กำหนดว่า หากอุปกรณ์ไฟฟ้ามีแรงดันเกิน 50 โวลต์ นายจ้างต้องจัดหาการป้องกันที่เหมาะสม เช่น การติดตั้งบังเกอร์ หรือใช้แผ่นฉนวนไฟฟ้าที่พื้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากไฟฟ้าด้วยการแตะต้องโดยตรง
  • ข้อที่ 18 กำหนดให้นายจ้างต้องติดตั้งเต้ารับ สายไฟ อุปกรณ์ต่างๆ และเครื่องมือป้องกันกระแสไฟฟ้าที่เกินขนาดที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเพียงพอสำหรับการใช้งาน โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ หรือหากยังไม่มีมาตรฐานดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
  • ข้อที่ 19 กำหนดแนวทางการใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับนายจ้าง ดังนี้
    • ควรติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในพื้นที่ที่มีขนาดเพียงพอสำหรับการทำงานที่สะดวก และปลอดภัย
    • ควรมีระบบระบายอากาศที่เพียงพอ โดยเฉพาะในกรณีที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าภายในอาคาร ควรมีท่อไอเสียที่นำไอเสียออกนอกอาคาร
    • ควรมีการติดตั้งเครื่องป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน เพื่อป้องกันอุปกรณ์จากกระแสไฟฟ้าที่เกินขนาด
    • ควรมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสมสำหรับการดับไฟ ที่เกิดจากไฟฟ้า และน้ำมัน ควรมีไว้ในห้องเครื่อง และการออกแบบ ตลอดจนการติดตั้ง ก็ควรปฏิบัติตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศ

เมื่อใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง นอกจากจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเบื้องต้นแล้ว นายจ้างยังต้องจัดหาอุปกรณ์ที่ป้องกันการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง เช่น สวิตช์สับโยกสองทาง หรืออุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพื่อป้องกันการเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าหลักของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่ได้รับอนุญาต

กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับคอนโดสูง

กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับคอนโดสูง

กฎหมายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ซึ่งออกโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้อาคารสูงที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป และอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่ก่อสร้างรวมทุกชั้นไม่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร จะต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยมีข้อกำหนดดังนี้

  • ระบบไฟฟ้าสำรองจะต้องสามารถจ่ายไฟได้ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง เพื่อสำหรับเครื่องหมายแสดงทางฉุกเฉิน ทางเดิน ห้องโถง บันได และระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้
  • ระบบไฟฟ้าสำรองจะต้องสามารถจ่ายไฟตลอดเวลาที่ใช้งาน สำหรับลิฟต์ดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ห้องช่วยชีวิตฉุกเฉิน ระบบสื่อสารเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ และกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรือสุขภาพอนามัยเมื่อกระแสไฟฟ้าขัดข้อง

โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่จัดเตรียมไว้ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน วสท. 112002-59 ซึ่งระบุว่า:

  •  ต้องติดตั้งในห้องที่แยกจากระบบอื่นๆ มีการระบายอากาศที่ดี และไม่อยู่ในตำแหน่งที่น้ำท่วม
  •  ต้องใช้วัสดุ และอุปกรณ์ติดตั้งที่มีมาตรฐาน เช่น เครื่องยนต์ต้นกำลัง แผงควบคุมเครื่องยนต์ ระบบท่อไอเสีย ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง และต้องมีระบบสับเปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟภายใน 15 วินาทีหลังจากไฟฟ้าหลักขัดข้อง
  • ต้องมีการกำหนดมาตรฐานการติดตั้งทางกล และทางไฟฟ้า รวมถึงมาตรฐานการทดสอบ และการบำรุงรักษา

การตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแต่ละปี ต้องตรวจอะไรบ้าง

การตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแต่ละปี ต้องตรวจอะไรบ้าง

การตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้าสำรองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะการตรวจสอบประจำปีจะช่วยให้คุณสามารถระบุ และแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ โดยมีรายการตรวจสอบที่ควรทำเป็นประจำทุกปี ดังนี้

  1. การตรวจสอบการติดตั้งตามมาตรฐาน (Installation Requirements): ตรวจสอบว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้รับการติดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่กำหนด
  2. การตรวจสอบระบบระบายอากาศ (Ventilation System): ตรวจสอบระบบระบายอากาศ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการไหลเวียนอากาศที่เพียงพอสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
  3.  การตรวจสอบระบบน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel System): ตรวจสอบระบบน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความเรียบร้อย และเพื่อไม่ให้มีการรั่วซึม
  4. การตรวจสอบระบบแบตเตอรี่ (Battery System): ตรวจสอบแบตเตอรี่เพื่อความพร้อมในการสตาร์ตเครื่อง และการทำงานที่เสถียร
  5. การตรวจสอบการติดตั้งทางไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Electrical Installation): ตรวจสอบการเชื่อมต่อทางไฟฟ้า และอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัย
  6. การตรวจสอบผลทดสอบประจำสัปดาห์ (Operational Test): ทำการทดสอบการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถทำงานได้ตามที่คาดหวังเมื่อจำเป็น

นอกจากนี้ ยังควรมีการทำความสะอาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเปลี่ยนอุปกรณ์ที่สึกหรอปีละครั้ง หากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีขนาดผลิตรวมของแต่ละแหล่งผลิตตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป จะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อยื่นกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน

สรุป

การมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ทำงานได้อย่างเชื่อถือได้ และปลอดภัยเป็นส่วนสำคัญของระบบไฟฟ้าสำรองในอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ โดยกฎหมายไทยได้กำหนดข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับอาคารเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถให้บริการไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และปลอดภัยเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

ซึ่งการตรวจสอบประจำปีเป็นกระบวนการที่จำเป็น เพื่อรักษาความพร้อมใช้งาน และความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งการตรวจสอบเหล่านี้ครอบคลุมทุกส่วนสำคัญตั้งแต่การติดตั้ง ระบบระบายอากาศ ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบแบตเตอรี่ การเชื่อมต่อทางไฟฟ้า ไปจนถึงการทดสอบการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ดังนั้นจะเห็นว่า การปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงการทำการตรวจสอบ และบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของคุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้อยู่อาศัย และผู้ใช้งานอาคารมีความปลอดภัย และสามารถดำเนินชีวิต และกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างไม่สะดุดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินนั่นเอง

Facebook
Email
Print