มีใครเคยเป็นบ้าง? กำลังนั่งเล่นเพลินๆ ไฟในบ้านก็ดับไปเลย หรือนอนๆ อยู่ แอร์ก็ดับ ต้องนอนร้อนอยู่ตั้งนานกว่าไฟจะกลับมา ‘ปัญหาไฟฟ้าดับ’ เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ยิ่งไฟฟ้าดับ หรือไฟฟ้าขัดข้องเป็นเวลานานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสียเวลาไปเปล่าๆ มากเท่านั้น ถ้าหากมีไฟสำรองคงจะดีไม่ใช่น้อย ในบทความนี้ทาง Siam Generator จะมาแนะนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมถึงบอกประโยชน์ของเครื่องปั่นไฟ รวมถึงวิธีการดูแลรักษาเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินอย่างละเอียด
เครื่องปั่นไฟ คืออะไร?
เครื่องปั่นไฟ หรือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน โดยการเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยการให้ขดลวดเคลื่อนที่อยู่ภายในสนามแม่เหล็ก จะทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้เครื่องปั่นไฟมีขนาด และประเภทที่แตกต่างกันออกไป ควรเลือกเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
-
เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินกระแสตรง (DC Generator) ทิศทางการไหลของไฟฟ้ามีความสม่ำเสมอ มีความแปรปรวนน้อย แต่ไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปได้ไกล จึงนิยมใช้ในที่พักอาศัยขนาดเล็ก
-
เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินกระแสสลับ (AC Generator) สามารถส่งพลังไปได้ไกลกว่าเครื่องปั่นไฟกระแสตรง เหมาะกับการเชื่อมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กำลังไฟสูง นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล
ในส่วนของขนาดของเครื่องปั่นไฟ แบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่
-
เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินขนาดเล็ก มีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ <1 kVA – 20 kVA นิยมใช้สำหรับที่พักอาศัย หรือไซต์งานก่อสร้าง
-
เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินขนาดกลาง มีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 20 kVA – 50 kVA นิยมใช้สำหรับที่พักอาศัยที่ค่อนข้างใหญ่ หรือไซต์งานก่อสร้างขนาดเล็ก
-
เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินขนาดใหญ่ มีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 50 kVA – 100 kVA ขึ้นไป นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาล
ประโยชน์ของเครื่องปั่นไฟ มีอะไรบ้าง?
เครื่องปั่นไฟฉุกเฉิน มีประโยชน์มากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน เพื่อป้องกันความเสียหายของเครื่องใช้ไฟฟ้า ช่วยรักษาสมดุลการทำงานของระบบไฟฟ้า รวมถึงยังสามารถช่วยชีวิตคนได้ในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย โดยสามารถสรุปประโยชน์ของเครื่องปั่นไฟได้ ดังนี้
ไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
การใช้เครื่องปั่นไฟเป็นไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตามอาคารสำนักงาน โรงงาน หรือแม้แต่โรงพยาบาล การมีไฟฟ้าสำรองนั้น สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตให้ดำเนินต่อไปได้อีกด้วย เช่น ผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หากไฟฟ้าดับไป จะส่งผลถึงชีวิตได้
พลังงานสำรองสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า
ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า หรือแม้แต่เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมล้วนต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานทั้งหมด อีกหนึ่งประโยชน์ของเครื่องปั่นไฟ คือการเป็นแหล่งไฟสำรองช่วยให้อุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานต่อไปได้ โดยเฉพาะในโรงงานการผลิตที่ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ควรมีเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินไว้ใช้ เพื่อให้การผลิตสามารถดำเนินต่อได้ แม้ว่าไฟฟ้าขัดข้องอยู่ก็ตาม
พลังงานสำหรับเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ก่อสร้าง
ในงานก่อสร้างส่วนใหญ่จะต้องมีทั้งการขุด เจาะ ที่ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานในการทำงานของอุปกรณ์ขุดเจาะทั้งสิ้น รวมถึงหากเป็นไซต์งานขนาดใหญ่ที่ต้องดำเนินการก่อสร้างในช่วงกลางคืน การติดตั้งเครื่องปั่นไฟสำรองเอาไว้ จะมีประโยชน์ช่วยให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
การใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการ
ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไกล ตั้งแคมป์ ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องออกเดินทางนอกสถานที่ ล้วนจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น เนื่องจากไฟฟ้าเป็นตัวเชื่อมหลักในการอำนวยความสะดวกของการจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นลำโพง ไมโครโฟน แสงไฟ หรือพัดลม การมีไฟสำรองช่วยให้การดำเนินการของกิจกรรมนันทนาการเป็นไปอย่างราบรื่นนั่นเอง
ช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดจากไฟฟ้าขัดข้อง
เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท หากเกิดไฟตก หรือไฟกระชาก อาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นนั้นเสียหาย ส่งผลต่อระบบการทำงาน การมีเครื่องปั่นไฟสำรองฉุกเฉินช่วยให้มีไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ตลอด โดยเฉพาะในธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา เช่น ธุรกิจอาหารแช่แข็ง หากไฟดับ ตู้เก็บความเย็นจะหยุดทำงาน อาจทำให้สินค้าเสียหายได้ ควรมีเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินเอาไว้เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า เมื่อเทียบค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแล้ว การมีเครื่องปั่นไฟถือเป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
มีส่วนช่วยในเรื่องของความยั่งยืน
ในอดีตเครื่องปั่นไฟจะต้องใช้พลังงานจากน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันสามารถนำพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ในการผลิตไฟสำรองได้ เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานจากแก๊สธรรมชาติ
ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นการลงทุนระยะยาว
การที่มีเหตุไฟดับบ่อยๆ ไฟฟ้าขัดข้อง ส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในโรงงานที่ต้องผลิตสินค้าตลอดเวลา หากไฟฟ้าดับก็จะส่งผลต่อการผลิต สินค้าอาจขาดตลาด หรือส่งออกไม่ทันในแต่ละวัน การมีไฟฟ้าสำรองจะช่วยให้การผลิตดำเนินต่อไปได้ด้วยดี เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า
วิธีเลือกเครื่องปั่นไฟให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน
ในปัจจุบันเครื่องปั่นไฟมีให้เลือกหลายแบบ หลายขนาดด้วยกัน ดังนั้นการเลือกเครื่องปั่นไฟที่เหมาะสมกับการใช้งานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การซื้อเครื่องปั่นไฟสำรองนั้นเป็นไปอย่างคุ้มค่า และใช้ประโยชน์ของเครื่องปั่นไฟได้มากที่สุด ควรพิจารณาจากปัจจัยดังนี้
-
พิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น ต้องการใช้เครื่องปั่นไฟสำหรับกิจกรรมนันทนาการ หรือใช้เป็นไฟสำรองในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
-
พิจารณาจากระยะเวลาในการใช้งาน ต้องการใช้งานเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ ใช้งานบ่อยแค่ไหน ควรคำนวณมาก่อนว่าใช้ไปในเวลาเท่าไรจึงจะคุ้มทุน ตอบคำถามว่าเหมาะที่จะลงทุนซื้อไหม
-
จำแนกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้มอเตอร์ กับไม่ใช้มอเตอร์ออกก่อน เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบมีมอเตอร์จะต้องใช้พลังงานในการเปิดเครื่องสูง อาจกินไฟมากกว่าปกติถึง 4-5 เท่า จึงต้องแยกประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจน
-
คำนวณรายละเอียดของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการเชื่อมกับเครื่องปั่นไฟ เมื่อแยกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้มอเตอร์ กับไม่ต้องใช้มอเตอร์เสร็จแล้ว ให้นับจำนวนของเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงคำนวณกำลังไฟฟ้า (วัตต์) ที่จำเป็นต้องใช้ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ
ดูแลรักษาเครื่องปั่นไฟ ทำได้อย่างไร
สำหรับวิธีการดูแลรักษาเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินให้มีอายุการใช้งานได้อย่างยาวนาน และปลอดภัย มีดังนี้
-
หมั่นตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องปั่นไฟสำรองอยู่เสมอ
-
ทำความสะอาดเครื่องปั่นไฟหลังใช้งานทุกครั้ง
-
เทน้ำมันเชื้อเพลิงออกจากเครื่องปั่นไฟหลังใช้งานเสร็จทุกครั้ง
-
ทำการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรองเชื้อเพลิง และไส้กรองอากาศ ตามระยะเวลาการใช้งาน
-
หลีกเลี่ยงการปิดใช้งานเครื่องปั่นไฟเป็นเวลานาน หากไม่ใช้งานก็ควรเปิดเครื่องเป็นระยะ
-
เก็บรักษาเครื่องปั่นไฟในพื้นที่แห้ง ไม่อับชื้น
ข้อควรระวังที่ควรรู้ ก่อนใช้งานเครื่องปั่นไฟ
ก่อนใช้งานเครื่องปั่นไฟ ควรรู้จักข้อควรระวังเหล่านี้ก่อนทำการใช้งาน
-
สถานที่ในการติดตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้าจะต้องเป็นพื้นที่ที่ระบายอากาศออกได้ ไม่มีฝุ่นละออง หรือไม่มีวัตถุไวไฟอยู่บริเวณโดยรอบ
-
ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องปั่นไฟยังร้อนอยู่
-
ห้ามจ่ายกระแสไฟเกินกว่ากำลังของเครื่องปั่นไฟ
-
หลีกเลี่ยงการปรับ แก้ไขเครื่องปั่นไฟ ในขณะที่เปิดใช้งาน
-
ควรมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่หน้าเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินทุกครั้งขณะที่เปิดใช้งาน
-
หากมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นขณะกำลังจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้งดจ่ายไฟ และกดปุ่ม OFF ก่อนเข้าไปตรวจสอบทุกครั้ง
-
หลังใช้งานเครื่องปั่นไฟเสร็จเรียบร้อย ให้ตรวจดูว่าเครื่องปั่นไฟถูกปิดอยู่ที่ปุ่ม OFF อยู่หรือไม่ จากนั้นนำอุปกรณ์ไปเก็บเข้าที่
ไฟฟ้า เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เลยก็ว่าได้ หากเกิดไฟฟ้าดับ หรือไฟฟ้าขัดข้อง การมีไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินไว้ใช้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต รวมถึงช่วยป้องกันการเสียหายของทรัพย์สินในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจอยากติดตั้งเครื่องปั่นไฟ ไม่ว่าจะเป็นติดตั้งที่บ้าน ที่โรงงาน หรือตามโรงพยาบาลต่างๆ สามารถติดต่อทาง Siam Generator ที่เป็นผู้นำในการติดตั้งและจัดจำหน่ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชั้นนำจากต่างประเทศที่ได้รับรองความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากลอย่าง ISO 9001, ISO 14001 และ OHSAS 18001