พิกัดกำลัง (Power Rating) ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) โดยทั่วไปแล้ว จะมี 2 ประเภท คือ Prime Power และ Standby Power ที่เป็นที่นิยม แล้วพิกัดกำลังทั้ง 2 ประเภทนี้ต่างกันอย่างไร จะใช้ในกรณีใด มีสิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อใช้งานหรือไม่ นอกจาก Prime Power และ Standby Power ยังมีพิกัดกำลังอื่นอะไรอีกบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
Prime Power (PRP) คืออะไร
พิกัดกำลังพร้อมใช้ (Prime Power, PRP) คือ พิกัดกำลังพร้อมใช้ เป็นพิกัดกำลังไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งจะทำงานอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด มีการจ่ายไฟฟ้า 2 แบบ คือ
- การจ่ายไฟฟ้าให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำกัดเวลาสำหรับโหลดประเภทไม่คงที่ (Variable Load Applications)
- การจ่ายไฟฟ้าแบบกำลังงานเฉลี่ย ที่จ่ายในระยะ 24 ชั่วโมง การโหลดจะต้องไม่เกิน 70% ของพิกัด PRP หรืออีกนัยหนึ่ง = ค่าเฉลี่ยของโหลดแฟคเตอร์ไม่เกิน 70 % ของพิกัดกำลัง
ใช้ในสถานการณ์ใดบ้าง
Prime Power (PRP) หรือพิกัดกำลังพร้อมใช้ ถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานได้ตลอดเวลาในสถานการณ์ที่ต้องการไฟฟ้าตลอดเวลา ดังนี้
- ในแหล่งอุตสาหกรรม
- ไซต์งานก่อสร้าง เหมือง
- สถานที่ที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก
- งานคอนเสิร์ตกลางแจ้งในพื้นที่ห่างไกล
สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อใช้งาน
การคำนึงถึงสิ่งที่ต้องระวัง จะช่วยให้การใช้งาน Prime Power (PRP) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยยืดอายุการใช้งานได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีข้อควรระวังดังนี้
- เลี่ยงการใช้งานที่โหลดต่ำกว่า 50% เพราะการเผาผลาญของเครื่องยนต์จะทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดเขม่าควันในท่อไอเสีย ส่งผลให้เครื่องปั่นไฟทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเกิดความเสียหายได้
- หากจำเป็นต้องโหลดต่ำกว่า 50% อย่างเลี่ยงไม่ได้เป็นระยะเวลานาน ต้องทำการโหลดเทียม (Load Bank) เพื่อตรวจสอบว่าเครื่องปั่นไฟสามารถทำงานได้ตามสเปกเครื่อง หรือทำงานได้ประสิทธิภาพหรือไม่
Emergency Standby Power (ESP) คืออะไร
พิกัดกำลังสำรองฉุกเฉิน (Emergency Standby Power : ESP) คือ พิกัดสำรองฉุกเฉิน ซึ่งทำหน้าที่และมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้
- จ่ายไฟฟ้าให้เพื่อทดแทนกำลังไฟฟ้าหลัก ในกรณีที่ไฟฟ้าหลักดับหรือขัดข้อง
- ไม่สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าได้เกินกว่าพิกัดสูงสุด
- จ่ายให้โหลดประเภทไม่คงที่ (Variable Load Applications)
- กำลังงานเฉลี่ยที่จ่ายไฟฟ้าในระยะ 24 ชั่วโมง (PPP) จะต้องไม่เกิน 70% ของพิกัด ESP หรืออีกนัยหนึ่ง = เฉลี่ยโหลดแฟคเตอร์ไม่เกิน 70 % ของพิกัดกำลัง
- ใช้งานได้ปีละไม่เกิน 200 ชั่วโมง
ใช้ในสถานการณ์ใดบ้าง
ในสถานการณ์ที่มีการหยุดจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลัก อย่างกรณีที่เกิดไฟฟ้าดับหรือมีปัญหาทางเทคนิคที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า Standby Power จะทำหน้าที่ให้พลังงานสำรองในทันที เพื่อให้การทำงานของระบบหรือเครื่องจักรต่างๆ ยังคงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น
- ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา หากไฟฟ้าขัดข้องจะทำให้เครื่องจักรหยุดทำงาน และเกิดความเสียหายได้
- โรงพยาบาลทั่วไป เพราะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ที่มีความสำคัญต่อชีวิตผู้ป่วย อาทิ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้อง อย่างไฟตก ไฟดับ จะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อใช้งาน
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อใช้งาน Standby Power (ESP) หรือพิกัดสำรองฉุกเฉิน มีเพียง 2 อย่าง ดังนี้
- Standby Power (ESP) เหมาะกับการจ่ายไฟฟ้า เพื่อสำรองไฟในกรณีฉุกเฉิน 1-12 ชั่วโมง เท่านั้น ไม่เหมาะกับการใช้จ่ายไฟในระยะเวลานานต่อเนื่อง
- ต้องติดตั้งคู่กับ ATS (Automatic Transfer Switch) ที่เป็นสวิตช์สลับไฟอัตโนมัติ เพื่อความต่อเนื่องของการจ่ายไฟ เมื่อแหล่งพลังงานหลักขัดข้อง ATS ก็จะสลับการจ่ายไฟของเครื่องปั่นไฟโดยอัตโนมัติ และหากแหล่งพลังงานหลักกลับมาใช้งานได้ปกติแล้ว ATS ก็จะทำการสลับไฟกลับมาให้ดังเดิม
ความแตกต่างระหว่าง Prime Power (PRP) และ Standby Power (ESP)
Prime Power (PRP) และ Standby Power (ESP) เป็นประเภทของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีการใช้งานและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสามารถสรุปความแตกต่างหลักๆ จากการใช้งานของ Prime Power (PRP) ออกแบบมาเพื่อใช้งานต่อเนื่องในระยะยาว สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ไม่จำกัดเวลา และใช้ในสถานที่ที่ไม่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลัก หรือต้องการพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เช่น ไซต์งานก่อสร้าง เหมือง โรงงานในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
ต่างจาก Standby Power (ESP) ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในกรณีฉุกเฉิน หรือเมื่อมีการหยุดจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลัก ออกแบบมาให้ทำงานในช่วงเวลาสั้นๆ และใช้ในสถานที่ที่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักอยู่แล้ว แต่ต้องการพลังงานสำรองในกรณีที่ไฟฟ้าหลักขัดข้อง เช่น อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์ข้อมูล เป็นต้น
พิกัดกำลังของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทอื่นๆ
นอกจาก Prime Power (PRP) และ Standby Power (ESP) แล้วยังมีพิกัดกำลังของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทอื่น ที่ใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ ตามความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนี้
- Continuous Power (COP) หรือ Base Load power เหมาะสำหรับการใช้งานต่อเนื่องในระยะยาวในสถานที่ที่ไม่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักหรือมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงงานผลิตสินค้า ระบบการจ่ายไฟในเรือเดินสมุทร เป็นต้น
- Unlimited Running time Prime Power, ULTP เหมาะสำหรับการใช้งานในระยะเวลาจำกัดแต่สามารถรองรับการทำงานที่โหลดสูงสุดในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น การทดสอบเครื่องจักร การใช้งานชั่วคราวในกิจกรรมพิเศษ เป็นต้น
- Limited time running power : เหมาะสำหรับการใช้งานชั่วคราวหรือการทดสอบระบบต่างๆ ที่ต้องการพลังงานสูงในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น งานเทศกาล คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า เป็นต้น
- Data Center Power : DCP เหมาะสำหรับการใช้งานในศูนย์ข้อมูล ระบบเครือข่าย และระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าตลอดเวลา เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของบริการ เช่น ศูนย์ข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยี ธนาคาร และองค์กรที่ให้บริการออนไลน์ เป็นต้น
สรุป
Prime Power (PRP) เหมาะสำหรับการใช้งานต่อเนื่องในระยะยาวในสถานที่ที่ไม่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลัก หรือในสถานการณ์ที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ส่วน Standby Power (ESP) เหมาะสำหรับการใช้งานในกรณีฉุกเฉินหรือเมื่อมีการหยุดจ่ายไฟฟ้าหลัก โดยเน้นความสามารถในการให้พลังงานสำรองในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งการเลือกใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบใดขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน และความต้องการของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ ซึ่ง Siam Generator มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ Prime Power (PRP) และ Standby Power (ESP) ให้เลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ พร้อมมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการเลือกเครื่องกำเนิดไฟฟ้าว่าลักษณะการใช้งาน ความต้องการพลังงาน และระยะเวลาการใช้งานของคุณ ต้องเลือกใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทอะไร พร้อมบริการหลังการขายให้คำปรึกษาตลอดการใช้งาน